Accessibility Tools

image

สำนักงานอธิบดีผู้พิพากษาภาค 5

ประวัติความเป็นมา/ข้อมูลทั่วไปของหน่วยงานimage

 ประวัติสำนักงานอธิบดีผู้พิพากษาภาค 5

ตำแหน่งอธิบดีผู้พิพากษาภาค  5  เป็นตำแหน่งที่ตั้งสืบเนื่องมาจากการประกาศใช้พระราชธรรมนูญศาลหัวเมือง  ร.ศ.114  ซึ่งได้แบ่งศาลหัวเมืองเป็นศาลมณฑล  ศาลเมือง  ศาลแขวง  แต่ตัวผู้พิพากษาตุลาการยังปะปนกันอยู่แม้ว่าจะได้จัดตั้งกระทรวงยุติธรรมแล้ว ในปีต่อมามีพระราชบัญญัติจัดตั้งข้าหลวงพิเศษสำหรับการจัดการแก้ไขธรรมเนียมศาลหัวเมืองทั้งปวง  ร.ศ. 115 แม้ข้าหลวงพิเศษประจำการ  3  นาย จะเป็นพระองค์เจ้ารพีพัฒนศักดิ์  ขุนหลวงพระไกรสี  มิสเตอร์ อาร์เยเกิกปาตริก  แต่ก็ยังต้องมีผู้รักษาการเมืองในมณฑลนั้น ๆ  1 นาย  เป็นข้าหลวงพิเศษกำกับอยู่ด้วย  สำหรับมณฑลตะวันตกเฉียงเหนือ  (มณฑลกลาง  หรือมณฑลพายัพ) ใน ร.ศ.116  พระยาทรงสุรเดช ข้าหลวงใหญ่ได้รวบรวมเอาศาลต่าง ๆ มาไว้ในศาลยุติธรรมและตั้งเจ้าบุรีรัตน์  เป็นอธิบดี  ครั้น ร.ศ.117 กระทรวงยุติธรรมส่งหลวงจรรยายุติกฤตย์ (จำนง อมาตยกุล) ไปดำเนินการจัดรูปศาลยุติธรรมในมณฑลนั้น มีเขตอำนาจเหนือเมืองเชียงใหม่ ลำพูน ลำปาง เชียงราย แม่ฮ่องสอน น่าน แพร่ ซึ่งต่อมาเมืองน่าน แพร่ ลำปาง ถูกแยกไปเป็นมณฑลมหาราษฎร์ ผู้บังคับบัญชาระดับสูงยังคงเป็นข้าหลวงเมืองพิเศษมณฑลพายัพอยู่เรื่อยมาจนมีประกาศแก้พระธรรมนูญข้าหลวงพิเศษ และตั้งศาลมณฑลพายัพและศาลมณฑลมหาราษฎร์ ลงวันที่ 30 มีนาคม 2485 จึงยกเลิกตำแหน่งข้าหลวงพิเศษ เปลี่ยนเป็นข้าหลวงพิเศษศาลยุติธรรม ต่อมาได้มีการประกาศใช้พระธรรมนูญศาลยุติธรรมแก้ไขเพิ่มเติม พ.ศ.2476 ให้ยุบเลิกศาลมณฑล และเลิกตำแหน่งข้าหลวงพิเศษศาลยุติธรรมอีกด้วย  โดยกฎหมายฉบับเดียวกันบัญญัติให้มีตำแหน่งข้าหลวงยุติธรรมขึ้นแทนมีอำนาจเหมือนอธิบดีศาลมณฑล    จนถึงคราวประกาศใช้พระธรรมนูญศาลยุติธรรมแก้ไขเพิ่มเติม ฉบับที่ 3 พ.ศ.2497 ตำแหน่งนี้ถูกเรียกใหม่ว่า "อธิบดีผู้พิพากษาภาค 5" มาจนถึงปัจจุบัน
 
เขตอำนาจสำนักงานอธิบดีผู้พิพากษาภาค 5
สำนักงานอธิบดีผู้พิพากษาภาค 5 มีเขตอำนาจครอบคลุมพื้นที่  8 จังหวัด ในภาคเหนือตอนบน  ได้แก่จังหวัดเชียงใหม่ จังหวัดเชียงราย จังหวัดน่าน จังหวัดพะเยา จังหวัดแพร่ จังหวัดแม่ฮ่องสอน จังหวัดลำปาง และจังหวัดลำพูน  
ศาลชั้นต้นที่อยู่ในเขตอำนาจของสำนักงานอธิบดีผู้พิพากษาภาค  5  นอกจากศาลจังหวัดและศาลแขวงแล้ว  ยังรวมถึงศาลเยาวชนและครอบครัวที่ได้รับมอบหมายจากอธิบดีผู้พิพากษาศาลเยาวชนและครอบครัวกลางตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลเยาวชนและครอบครัวและวิธีพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัว   พ.ศ.2535  มาตรา 22 ที่กำหนดให้อธิบดีผู้พิพากษาภาคมีอำนาจตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา 13 วรรคสาม แห่งพระธรรมนูญศาลยุติธรรม ในส่วนที่เกี่ยวกับศาลเยาวชนและครอบครัวที่อยู่ในเขตอำนาจของตนและให้เป็นผู้บังคับบัญชาและรับผิดชอบงานธุรการของศาลเยาวชนและครอบครัวที่อยู่ในเขตอำนาจของตนตามที่อธิบดีผู้พิพากษาศาลเยาวชนและครอบครัวกลางมอบหมาย ซึ่งได้มีการมอบหมายไว้แล้ว ดังนั้น ในขณะนั้นจึงมีศาลชั้นต้นที่อยู่ในเขตอำนาจสำนักงานอธิบดีผู้พิพากษาภาค 5 ตามพระราชกฤษฎีกาตั้งสำนักงานอธิบดีผู้พิพากษาภาค 5 รวม 13 ศาล  ดังนี้
1.   ศาลจังหวัดเชียงใหม่ 
2.   ศาลแขวงเชียงใหม่ 
3.   ศาลเยาวชนและครอบครัวจังหวัดเชียงใหม่ จังหวัดเชียงใหม่ 
4.   ศาลจังหวัดฝาง (ตั้งอยู่ที่ อำเภอฝาง) จังหวัดเชียงใหม่ 
5.   ศาลจังหวัดเชียงราย 
6.   ศาลจังหวัดน่าน 
7.   ศาลจังหวัดพะเยา 
8.   ศาลจังหวัดแพร่ 
9.   ศาลจังหวัดลำปาง 
10. ศาลแขวงลำปาง 
11 ศาลจังหวัดลำพูน 
12. ศาลจังหวัดแม่ฮ่องสอน 
13. ศาลจังหวัดแม่สะเรียง (ตั้งอยู่ที่ อำเภอแม่สะเรียง) จังหวัดแม่ฮ่องสอน 
    ต่อมาได้มีการจัดตั้งศาลจังหวัดแผนกคดีเยาวชนและครอบครัว ตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลเยาวชนและครอบครัว ฯ อีก 4 ศาล คือศาลจังหวัดลำปางแผนกคดีเยาวชนและครอบครัว เปิดทำการเมื่อวันที่ 2 เมษายน พ.ศ.2540  ศาลจังหวัดลำพูนแผนกคดีเยาวชนและครอบครัว   เปิดทำการเมื่อวันที่ 1 เมษายน 2545 และศาลจังหวัดเชียงรายแผนกคดีเยาวชนและครอบครัวกับศาลจังหวัดแพร่แผนกคดีเยาวชนและครอบครัว เปิดทำการพร้อมกันเมื่อวันที่  1  ธันวาคม  2547
 และเมื่อวันที่ 20 สิงหาคม 2543  ศาลยุติธรรมที่เคยสังกัดอยู่กับกระทรวงยุติธรรม  มากว่า 108 ปี ได้แยกออกเป็นอิสระจากกระทรวงยุติธรรม และคณะกรรมการบริหารศาลยุติธรรมได้ออกประกาศเรื่อง กำหนดสถานที่ตั้งและเขตอำนาจสำนักงานอธิบดีผู้พิพากษาภาค เมื่อวันที่ 29 มกราคม 2545 ประกาศในราชกิจจานุเบกษา เมื่อวันที่ 12 กุมภาพันธ์ 2545  โดยกำหนดให้สำนักงานอธิบดีผู้พิพากษาภาค 5 ตั้งอยู่ที่จังหวัดเชียงใหม่ มีเขตอำนาจใน จังหวัดเชียงใหม่ จังหวัดเชียงราย จังหวัดน่าน จังหวัดพะเยา จังหวัดแพร่ จังหวัดแม่ฮ่องสอน จังหวัดลำปาง และจังหวัดลำพูน 
    ปัจจุบัน สำนักงานอธิบดีผู้พิพากษาภาค 5 ทำหน้าที่บริหารงานของศาลยุติธรรมในภาค 5 ภายใต้ความรับผิดชอบของอธิบดีผู้พิพากษาภาค 5 มีเขตอำนาจครอบคลุม ศาลจังหวัด ศาลแขวง และศาลเยาวชนและครอบครัว รวมทั้งสิ้น 26 ศาล 2 สาขา ดังนี้
ศาลจังหวัด  
1. ศาลจังหวัดเชียงใหม่ 
2. ศาลจังหวัดจังหวัดฝาง (ตั้งอยู่ที่อำเภอฝาง จังหวัดเชียงใหม่)
3. ศาลจังหวัดฮอด (ตั้งอยู่ที่อำเภอฮอด จังหวัดเชียงใหม่)
4. ศาลจังหวัดลำปาง 
5. ศาลจังหวัดแม่ฮ่องสอน 
6. ศาลจังหวัดแม่สะเรียง (ตั้งอยู่ที่อำเภอแม่สะเรียง จังหวัดแม่ฮ่องสอน)
7. ศาลจังหวัดเชียงราย 
8. ศาลจังหวัดเทิง (ตั้งอยู่ที่อำเภอเทิง จังหวัดเชียงราย)
9. ศาลจังหวัดน่าน 
10. ศาลจังหวัดลำพูน 
11. ศาลจังหวัดแพร่ 
12. ศาลจังหวัดพะเยา 
13. ศาลจังหวัดเชียงคำ
         
ศาลแขวง  
14.ศาลแขวงเชียงใหม่ 
15.ศาลแขวงลำปาง 
16.ศาลแขวงเวียงป่าเป้า(ตั้งอยู่ที่อำเภอเวียงป่าเป้า จังหวัดเชียงราย)
17.ศาลแขวงเชียงราย
18.ศาลแขวงเชียงดาว (ตั้งอยู่ที่อำเภอเชียงดาว จังหวัดเชียงใหม่)
 
ศาลเยาวชนและครอบครัว  
19.ศาลเยาวชนและครอบครัวจังหวัดเชียงใหม่ 
20.ศาลเยาวชนและครอบครัวจังหวัดลำปาง
21.ศาลเยาวชนและครอบครัวจังหวัดลำพูน
22.ศาลเยาวชนและครอบครัวจังหวัดเชียงราย
23.ศาลเยาวชนและครอบครัวจังหวัดแพร่
24.ศาลเยาวชนและครอบครัวจังหวัดน่าน
25.ศาลเยาวชนและครอบครัวจังหวัดพะเยา
26.ศาลเยาวชนและครอบครัวจังหวัดแม่ฮ่องสอน
ศาลสาขา
27. ศาลจังหวัดแม่ฮ่องสอน (สาขาปาย) (ตั้งอยู่ที่อำเภอปาย จังหวัดแม่ฮ่องสอน)
28. ศาลจังหวัดน่าน (สาขาปัว) (ตั้งอยู่ที่อำเภอปัว จังหวัดน่าน)